ผมได้มีโอกาสอ่านข้อมูลจาก website มาเห็นว่ามีประโยชน์มากถ้านำมาเก็บเป็นบทความไว้ให้เพื่อนสมาชิกมาอ่านกันครับ และขออนุญาติเจ้าของข้อมูลในที่นี้ด้วยนะครับ เพื่อนสมาชิกหรือผู้ได้เข้ามาอ่านจะมีประโยชน์มากๆกับมือใหม่ และเป็นการทบทวนความหมายกันอีกครั้งกับมืออาชีพกันด้วยครับ
1.ก้นหอย
ส่วนปลายที่มีลักษณะแหลม (acute) เช่น ปลายผลทุเรียนพันธุ์หมอนทองตูดเป็นก้นหอย หรือ เป็นจะงอย หรือ ตูดปิ่น ก็เรียก
2.ก้นกอด
ส่วนปลายที่คอดเข้า ปลายมน (obtuse) เช่น ก้านยาว หัวโต ก้นกอด
3.กระดุม
ชื่อเรียกกลุ่มพันธุ์ทุเรียนที่มีผลกลม ร่องพูลึก หนามเล็ก สั้น ถี่ หรือ ใช้เรียกระนะหนึ่งของตาดอก ดูลูกกระดุม
4.กระโปก
ส่วนหนึ่งของอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกของชายหรือสัตว์เพศผู้ ชาวสวนใช้เรียกส่วนที่โป่งนูนบนขั้วของผลทุเรียนที่แก่พร้อมตัด ในทุเรียนพันธุ์ก้านยาวมีกระโปกอยู่สูงจากขั้วประมาณ 1 องคุลี
5.กระโปรง
ใบตองแห้ง ตัดกว้างราว 15 ซม. 2 ชิ้น ประกบด้านใต้ใบเข้าหากัน หุ้มเหนือผลกระท้อน เอาไม้กลัดกลัดทำเป็นกรวย แล้วเอาตอกมัดปลาย เพื่อห่อผลกระท้อนป้องกันกระรอกแทะทำลาย และป้องกันแดด-ฝน
6.กะเทย
ชื่อเรียกกลุ่มพันธุ์ทุเรียนที่มักมีเมล็ดลีบ มีหลายพันธุ์ เช่น กะเทยเนื้อขาว กะเทยเนื้อเหลือง
7.กะเทย
ลักษณะเนื้อผลที่ค่อนข้างแข็ง เมล็ดลีบ เพาะไม่ขึ้น เช่น ทุเรียนพันธุ์นี้มักให้ผลกะเทย
8.กระโดง
กิ่งไม้ที่แตกออกตรงดิ่งขึ้นไปจากกิ่งใหญ่ เรียก กิ่งกระโดง (water sprout): ลำน้ำขนาดเล็กที่ขุดเชื่อมกับลำน้ำขนาดใหญ่ เพื่อชักน้ำเข้าสวน เรียก ลำโดง หรือลำประโดง
9.กิ่งตาย
กิ่งที่แห้งเหี่ยวและตาย มักเกิดเนื่องจากติดผลบนกิ่งนั้นๆมากเกินไป
10.กิ่งเสียบ
คล้ายกับกิ่งที่เกิดอยู่ในใจกลางของตาไม้ เมื่อกิ่งเจริญใหญ่ขึ้นจะถูกเปลือกไม้ที่เป็นขอบตาซึ่งล้อมรอบกิ่งไม้นั้นบีบเข้าๆ จนทำให้โคนกิ่งที่ชิดกับต้นคอด อาหารและน้ำเดินไม่ได้ทำให้ถึงตาย ซึ่งเป็นกับทุเรียนบางพันธุ์ เช่น ก้านยาว และตระกูลฉัตร
11.แกน แข็ง
ใช้เรียกผลทุเรียนที่มีเนื้อแข็งเป็นไต อาจมีรสขมด้วย ทุเรียนเป็นแกน เกิดจากการที่ต้นทุเรียนผ่านช่วงแล้ง ขาดน้ำ ภายนอกผลมีอาการเต่าเผา
12.แกน(ผล)
ส่วนกลางของผล (fruit axis) มีลักษณะเป็นแท่งแข็ง
13.ขนัด
มาตรวัดพื้นที่สวน มีขนาดไม่แน่นอนตั้งแต่น้อยกว่า 1 ไร่ถึงเป็นสิบไร่ ขุดเป็นร่องสวนแล้ว และมีขวางล้อม ใช้เรียกร่องสวนที่ปลูกพืชชนิดหนึ่งๆ หรือเป็นของเจ้าของคนเดียว เมื่อแบ่งพื้นที่ออกให้ทายาท ก็จะแบ่งด้วยขวางหรือด้วยร่องสวน
14.ขนาด
เป็นเครื่องที่ใช้รดน้ำชนิดหนึ่ง ใช้สาดน้ำให้เป็นฝอย
15.ขนาดรดน้ำ
อุปกรณ์ตักน้ำ มีด้าม คล้ายช้อน แผ่แบน มีก้นลึกกว่าขนาดลอกแต่ตื้นกว่าแครง
16.ขนาดลอก
อุปกรณ์ตักน้ำ มีด้าม คล้ายช้อน แผ่แบน มีก้นตื่นกว่าขนาดรดน้ำ ใช้สำหรับตักเลนเพื่อขุดลอกร่องสวน
17.ขวาง
สันดินกั้นขนัดในแนวขวางร่องสวน มักไม่ติดต่อกับร่องสวน แต่มีสะพาน หรือ ไม้พาดเป็นสะพานให้เดินข้ามไปถึงได้
18.ขั้ว ก้านผล (pedicel)
เช่น ผลทุเรียนที่แก่จัดพร้อมตัดได้ มักมีขั้วดำ
19.ขั้วดำ
ก้านผลที่มีสีน้ำตาลคล้ำขึ้น แสดงว่าผลทุเรียนแก่จัด พร้อมตัดได้
20.ขั้วโด่
ก้านผลที่ชี้ตรงขึ้นไปจากแกนผล ซึ่งไม่พบในทุเรียนกลุ่มพันธุ์กบแท้ๆ
21.ขั้วเบี้ยว
ก้านผลที่เอียงหรืออาจถึงตั้งฉากจากแกนผล เป็นลักษณะเด่นที่พบในทุเรียนกลุ่มพันธุ์กบแท้ๆ เช่น กบสาวน้อย ทำให้เห็นรูปทรงผลเป็นเป็ด
22.ขั้วสั้น
ขั้วที่ติดกับผลยาวไม่เกิน 2 นิ้วฟุต
23.ขั้วหนาม ฐานหนาม (spine base)
เช่น กลุ่มพันธุ์กบมีขั้วหนามใหญ่
24.ขี้ร่อง
ดินเลนในท้องร่วง เป็นปุ๋ยอย่างดีสำหรับต้นทุเรียน เช่น ตักขี้ร่องสองแครงราดโคนต้นทุเรียน. ขี้เลน,ขี้ลอก ก็เรียก
25.ไข่ปลา
ตาดอก (floral bud) ที่เพิ่งโผล่ออกมา มีลักษณะเป็นตุ่มขนาดเล็กกว่าหัวเข็มหมุดบนกิ่งทุเรียน อีกราว 7-10 วันจะเจริญเป็นระยะเหยียดตีนหนู ชาวสวนใช้เป็นระยะเริ่มต้นในการนับวันที่ดอกจะบาน โดยทั่วไปอยู่ในราว 55 วัน
26.คัน
แนวดินที่พูนสูงขึ้นเป็นแนวยาวสำหรับกั้นน้ำ
27.แครง
อุปกรณ์ตักน้ำ คล้ายกระบวย แต่ใหญ่กว่า มีเส้นผ่านศูนย์กลางปากกระบวยยาวประมาณ 20 ซม. และมีด้านยาว มีก้นลึกสำหรับตักน้ำจากร่องสวนมารดต้นไม้
28.โคก
ดินที่พูนขึ้นเป็นสันระหว่างท้องร่อง ใช้เพาะปลูกพืช โคกปลูกทุเรียนมีความกว้าง 2-4 ม. ร่องสวน ก็เรียก อาจใช้เรียกดินที่พูยรอบๆ โคนทุเรียนแต่ละต้น ขนาดกว้างยาวราว 0.5-3 ม.สูง0.5-1 ม. จากร่องสวนกระเปาะ ก็เรียก. โดยชาวสวนจะยกโคกก่อนนำกิ่งพันธุ์ทุเรียนลงปลูก
29.จัดราก
การแผ่รากแขนงของต้นกล้าทุเรียนออกไปรอบๆ ไม่ให้ซ้อนกัน ในระหว่างการลงปลูก เพื่อให้รากเจริญออกในแนวรัศมี และเจริญเติบโตได้ดี
30.จับปลิง
ขั้วของทุเรียนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ท่อนสั้นที่ติดกับผลเรียกว่า “ขั้ว” รอยต่อระหว่างขั้วทั้งสองเรียกว่า “ปากปลิง” อีกท่อนหนึ่งที่ติดกับขั้วเรียกว่า “จับปลิง” ในขณะที่ทุเรียนสุกมีกลิ่นหอม ขั้วท่อนบนที่เรียกว่า “จับปลิง” จะหลุดออกจากขั้วที่ติดกับผลได้ง่าย เมื่อทุเรียนหล่นจะมีแต่ขั้ว ส่วนจับปลิงจะติดอยู่บนต้น ในการตัดทุเรียนจึงตัดชิดกิ่งให้จับปลิงติดมาด้วย
31.ด่อน
เสาไม้ ทำจากไม้ทองหลาง ไม้มังคุด หรือไม้มะไฟ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 ซม. ยาวประมาณ 1 ม. ใช้ปักลงกลางโคก ให้มิดหัวเสาก่อนนำต้นกล้าทุเรียนมาวางบนหัวเสา เหมือนเสาเข็ม ช่วยรักษาระดับรากทุเรียนไม่ให้ยุบตัวลง. ดาก ก็เรียก (แต่ไม่สุภาพ แปลว่า ก้น)
32.ดำเนิน
ห่าม จวนสุก ,แก่ยังไม่จัด คือ ระยะที่ผลเจริญเต็มที่ (mature green) แต่ยังไม่สุก เช่น ทุเรียนพันธุ์ชะนีต้องตัดดำเนิน 1 สัปดาห์ แล้วรอให้สุกจึงจะอร่อย
33.ติงเลน
ลุ่ม ริมน้ำ เช่น การใช้ดอนเหมาะกับพื้นที่ติงเลน ชิงเลน ฟอดน้ำ
34.ตีนหนู
ใช้เรียกระยะหนึ่งของตาดอก ดูเหยียดตีนหนู
35.ตูดป้าน
ส่วนปลายของผลทุเรียนที่มีลักษณะตัดทู่ ไม่แหลม เช่นที่พบในผลทุเรียนพันธุ์กำปั่นเจ้ากรม
36.ตูดเป็ด
ลักษณะที่เบี้ยวแหลม คล้ายหางเป็ด ใช้เรียกส่วนปลายผล
37.ตูดพู
ส่วนปลายของเนื้อทุเรียน ด้านตรงข้ามกับขั้วผล เป็นลักษณะเด่นลักษณะหนึ่งที่ใช้จำแนกทุเรียนบางพันธุ์ได้ เช่น ผลทุเรียนพันธุ์กบตาขำ (ภาพล่าง) มีตูดพูมน แต่ตูดผลบุ๋ม
38. เต่าเผา
เรียกส่วนที่แข็งดำ เช่น เปลือก เนื้อ แกนผล ที่เกิดขึ้นเพราะผลทุเรียนเจริญผ่านช่วงฝนแล้ง มักเริ่มเห็นอาการจากด้านใกล้ขั้วผลซึ่งถูกแดดจัด ถ้าอาการลุกลามถึงเนื้อข้างใน จะเกิดเป็น “หลังเบี้ย” หรือเป็นแกน ถ้าถูกฝน น้ำจะซึมผ่านเนื้อเยื่อที่ตาย เข้าไปทำให้เนื้อผลและแกนผลแฉะ เรียกว่า เกิดอาการไส้ซึม
39. แต่งตัว
ทุเรียนจะให้ผลมากปีหนึ่ง แล้วก็ให้น้อยปีหนึ่งสลับกันไป ปีที่ให้ผลน้อยเป็นปีที่ทุเรียน นำอาหารต่างๆไปปรับปรุงต้น เช่น กิ่ง ลำต้น เพื่อให้เจริญเติบโตขึ้นไป
40.ทรงหวด
ทุเรียนที่มีรูปร่างคล้ายหวดดินเผาที่ใช้นึ่งข้าวเหนียว
41.ทิ้งกิ่ง
กิ่งที่ออกผลแล้วจะแห้งตายไปอาจจะเป็นเพราะผลได้ใช้อาหารมากในการเจริญเติบโต จนทำให้กิ่งตาย หรือ การที่กิ่งทุเรียนแห้งตายเนื่องจากมีผลติดบนกิ่งมากเกินไป
42.นวล ไข
สีขาวบางๆ พบบนผลทุเรียนบางพันธุ์ โดยเฉพาะตามร่องหนาม เมื่อผลเจริญเต็มที่พร้อมตัดได้ เรียกว่า ขึ้นนวล
43.เนียน เรียบ
เช่น ทุเรียนพันธุ์กำปั่นพวงมีปลายผลเนียน ไม่มีจะงอยเหมือนพันธุ์หมอนทอง
44.นั่งแทน
การวางต้นกล้าทุเรียนบนเขียงไม้ที่วางบนด่อน ช่วยให้ต้นทุเรียนและโคกไม่ยุบ มักใช้วิธีนี้ในการการปลูกทุเรียนในพื้นมี่ลุ่ม น้ำมาก
45.เนื้อสวย
เมื่อทุเรียนสุก เนื้อที่หุ้มเมล็ดอยู่ในไม่เปียกแฉะ
46.บางบน
สวนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยขึ้นไปถึง จ.นนทบุรี เป็นสวนหนึ่งของสวนใน
47.บางล่าง
สวนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก แถบดาวคะนองลงไปจนถึง เขตบางขุนเทียน เป็นสวนหนึ่งของสวนใน
48.ใบเพสลาด
ใบไม้ระยะที่เพิ่งคลี่ออกเต็มที่มีสีเขียวไม่อ่อนไม่แก่
49.ปลิง
ก้านช่อผล เช่น ทุเรียนพันธุ์ก้านยาวที่ไม่มีปลิง ราคาตกเหลือครึ่งเดียว บางครั้งใช้เหมือนคำว่า ปากปลิง เช่น ทุเรียนกลุ่มพันธุ์กำปั่นเมื่อแก่ ขั้วจะคอดเรียวจากปลิงลงมา
50.ปัดดอก
การนำดอกทุเรียนหรือพู่กันป้ายเรณูจากดอกทุเรียนดอกอื่นมาปัดบนยอดเกสรเพศเมียของช่อที่ต้องการให้ติดผล ติดเมล็ดสมบูรณ์ โดยใช้พันธุ์เบา เช่น กระดุม กบ ลวง เป็นพ่อ และใช้พันธุ์หนัก เช่น หมอนทอง ชะนี หรือ ก้านยาวเป็นแม่ แต่เมื่อปัดดอกแล้ว ชาวสวนนนทบุรีบางท่านเชื่อว่าจะให้ผลที่มีคุณภาพไม่ดี เนื้อน้อย เมล็ดใหญ่ สี รูปร่างเปลี่ยน แต่ให้ผลขนาดใหญ่ กลมสวย เนื่องจากติดเมล็ดสม่ำเสมอ
51.ปากปลิง
รอยต่อระหว่างขั้วกับปลิงของทุเรียน ทุเรียนที่แก่จัดพร้อมตัด จะมีบริเวณปากปลิงบวมโตเห็นรอยต่อชัดเจน
52.เป็น(เป็ด) เบี้ยว
เรียกว่าลักษณะของผลทุเรียนที่เบี้ยวเพราะมีพูเดียว แต่เนื้อจะหนาและอร่อย เม็ดตาย พูอื่นที่เหลืออาจไม่มีเนื้อ เช่น ทุเรียนพันธุ์กบสาวน้อยมักมีขั้วเบี้ยว ให้ผลเป็นเป็ด หรือ ลักษณะผลทุเรียน ที่มีเนื้อเพียงพูหนึ่ง หรือ 2 พู นอกนั้นลีบ ทำให้ผลบิดเบี้ยวไม่น่าดู
53.แป้น
รูปทรงกลมแบน ป่องตรงกลาง เช่น กบตาขำตูดแป้น
54.ผล
ผลแบ่งออกเป็น 3 ขนาด ผลขนาดกลางมีเส้นผ่าศูนย์กลางผลตั้งแต่ 6-10 นิ้ว ถ้าต่ำกว่าจัดเป็นผลขนาดเล็ก ถ้าสูงกว่าเป็นขนาดใหญ่
55.พันธุ์เบา
พันธุ์ที่ให้ผลผลิตเร็ว ราว 90 วันนับจากดอกบาน เช่น พันธุ์กระดุม
56.พันธุ์หนัก
พันธุ์ให้ผลผลิตช้า ราว 120 วันนับจากดอกบาน เช่น หมอนทอง ก้านยาว ทองย้อย
57.พูหลอก
ผลทุเรียนที่เห็นสันและร่องพูชัดเจน แต่ภายใต้พูไม่มีเนื้อ เช่น ทุเรียนพันธุ์อีลวง มักมีพูหลอก
58.เพสลาด อ่านว่า เพ-สะ-หลาด
หมายถึง ไม่อ่อนไม่แก่ มักใช้กับใบไม้ เช่น เมื่อกิ่งพันธุ์ทุเรียนคลี่ใบเพสลาดก็ทาบกิ่งเสริมรากได้
59.เม็ดตาย เม็ดลีบ
พบบ่อยในผลทุเรียนบางพันธุ์ เช่น สาวน้อย ถือว่ามีคุณภาพดีให้เนื้อหนา
60.เมล็ดต่อ
การเรียงของเมล็ดในพูหนึ่งๆ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมมุมฉาก (จัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า) วางต่อกันจนเต็มพู
61.เม็ดใน
มาจากต้นพันธุ์ หรือแหล่งนั้น เช่นเม็ดในลวง ใช้กล่าวถึงทุเรียนหลายพันธุ์ที่เพาะจากเมล็ดพันธุ์ลวง : เม็ดในยายปราง เป็นชื่อทุเรียนพันธุ์หนึ่ง ซึ่งเชื่อว่า “ยายปราง” เป็นผู้เพาะปลูกเป็นคนแรก ชื่ออื่นๆ เช่น เม็ดในแม่เฒ่า เม็ดในก้านยาว ในการเพาะปลูกมักเลือกเฉพาะเมล็ดใหญ่ที่สุดที่อยู่ใกล้ขั้ว หรือ เรานำทุเรียนพันธุ์ใด มาเพาะ ต้นที่เกิดใหม่เรียกว่า เมล็ดในของพันธุ์นั้น
62.เมล็ดประกับ
เมล็ดที่มีเนื้ออยู่ มีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนวางซ้อนเหลี่ยมกันจนเต็มพู
63.ยกโคก
การเติมดินเหนือสันร่องให้พูนเป็นโคก ชาวสวนนิยมยกโคกปลูกทุเรียน เพื่อเพิ่มพิ้นที่ให้รากห่างจากระดับน้ำในท้องร่องมากขึ้น
64.ยุม คำในภาษาถิ่นใต้
เนื้อที่หุ้ม 1 เมล็ดที่อาจเป็นเมล็ดใหญ่หรือลีบก็ได้ นิยมใช้เรียก ยุมทุเรียนและยุมขนุน บางครั้งใช้เป็นลักษณะนาม เช่น ขนุน 1 ยุม ,ทุเรียน 1 พู มี 3-5 ยุม ภาษากลางอาจเรียก เม็ด หมายเหตุผู้วิจัย คณะผู้วิจัยเลือกนำศัพท์ภาษาถิ่นใต้คำนี้มาใช้เพื่อการระบุปริมาณเนื้อทุเรียนในห้องปฏิบัติการ
65.ร่องพู
ร่องระหว่างส่วนนูนตามแนวยาวของผลที่เรียกว่า พู ทุเรียนบางพันธุ์มีร่องพูลึก เช่น พันธุ์กระดุม พันธุ์หมอนทอง เมื่อแก่ สีร่องพูจะเข้มขึ้น ไล่จากล่างขึ้นบนไปสู่ขั้ว
66.ร่องสวน
สันดินระหว่างท้องร่อง ใช้สำหรับเพาะปลูกต้นทุเรียนและพืชอื่นๆ ซึ่งมีส่วนต่างๆ ได้แก่ อกร่อง และแคมร่อง
67.รากตะขาบ
รากแขนงแผ่บนสันร่อง ต้นที่มีรากตะขาบมากจะเป็นต้นที่แข็งแรง
68.รางดิน
การขุดดินออก เช่น พอปลูกต้นทุเรียนครบ 1 ปี ก็รางดินออกกว้าง 1 ศอก ลึก 2 ศอก รอบโคนต้นห่างประมาณ 1 เมตร เพื่อให้น้ำระบายลงไม่ขังแฉะที่โคนต้น
69.รุ่น
ช่วงเวลาที่ออกดอก หรือผล ในปี พ.ศ.2553 ซึ่งมีฝนชุกและอุณหภูมิลดต่ำผิดปกติหลายครั้ง ทุเรียนออกดอกถึง 3 รุ่น ห่างกันประมาณ 20 วัน คือ 5 พ.ย., 30 พ.ย. และ20ธ.ค.
70.เรือน ทรงพุ่ม
เช่น ทุเรียนพันธุ์สาวน้อยเรือนงาม หมายถึง มีทรงพุ่มสวย
71.เรือนต้น
รูปร่างของต้น ถ้าต้นใหญ่ มีกิ่งก้านสาขามาก มีใบอยู่เต็มต้น ทุกฤดู แสดงว่าทุเรียนต้นนั้นมีเรือนต้นดี
72.สอนเป็น
การไม่ปล่อยให้ต้นไม้ติดผลในช่วง 2-3 ปีแรก เพื่อให้กิ่งสมบูรณ์เต็มที่ก่อน เช่น ทุเรียนต้นนี้ต้องสอนเป็นก่อนอีก 2-3ปี
73.สาว
ต้นทุเรียนที่เจริญเต็มที่ มีอายุราว 2-3 ปี ออกดอก ติดผลได้แต่ให้ผลจำนวนน้อย และชาวสวนมักไม่ปล่อยให้ติดผล เพราะจะทำให้ต้นโทรมเร็ว เช่น ทุเรียนต้นนี้ยังเป็นทุเรียนสาวต้องสอนเป็นก่อน
74.สีนาก
คำเรียกชื่อสีออกชมพูส้ม คล้ายสีโลหะที่เรียกว่านาก อาจใช้เรียกสีเปลือกผล สีเนื้อผล หรือ สีใบด้านล่าง
75.สีลาน
คำเรียกชื่อสี ใช้เรียกสีเนื้อผลซึ่งมีสีน้ำตาลอ่อนคล้ายสีใบลานเมื่อแห้ง
76.เสริมราก
ทาบกิ่งต้นพันธุ์กับต้นตอ เชื่อว่าจะช่วยให้ต้นพันธุ์ได้รับอาหารมากขึ้นจากรากของต้นตอและทำให้ต้นแข็งแรงขึ้น
77.ไส้ แกน
ใช้เรียกแกนผล เช่น ไส้หนา หมายถึง แกนผลใหญ่ แก่นของกิ่ง เช่น กิ่งที่ใช้เสียบยอดต้องเป็นกิ่งเล็กที่ยังไม่มีไส้
78.ไส้ซึม
อาการที่แกนผลฉ่ำน้ำ เนื้อเละ มักเกิดกับทุเรียนบางพันธุ์เช่น กลุ่มพันธุ์ลวงและทองย้อย โดยเฉพาะเมื่อโดนฝนมาก หรืออยู่กับพื้นดินแฉะ และอาจเกิดเมื่อมีอาการเต่าเผา เพราะน้ำสามารถซึมเข้า ภายในผล ผ่านทางแผลเต่าเผา หรือ โรคของทุเรียน ที่ทำให้แกนกลางผลเหมือนกับชุ่มไปด้วยน้ำถ้าทิ้งไว้มีกลิ่นเหม็น
79.หม้อตาล
ภาชนะสำหรับใส่น้ำตาลโตนด ทำด้วยดินเผา ปากกลม ก้นเป็นกระเปาะ: กลีบเลี้ยงของทุเรียนซึ่งมีรูปร่างคล้ายหม้อตาล คือ มีกลีบเชื่อมติดกันเป็นวง ก้นเป็นกระเปาะ ปลายแยกเป็น 5 กลีบ สีขาวนวลถึงสีจำปา ร่วงหลังจากดอกบาน และใช้ทำอาหาร เช่น ขนมจีบ
80.หม้อทะนน
หม้อดินขนาดใหญ่ มีขีดเป็นรอยโดยรอบ สำหรับใส่น้ำ น้ำตาลโตนด เป็นต้น ชาวสวนอาจใช้หม้อทะนนที่ร้าวหรือเจาะรู เป็นภาชนะรองรับต้นกล้าทุเรียนวางบนด่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นทุเรียนยุบลงไปพร้อมกับโคก ชาวสวนใช้คำนี้เรียกกลีบเลี้ยงของทุเรียนที่มีรูปร่างคล้ายหม้อ
81.หวด
ภาชนะรูปทรงคล้ายกรวย ก้นสอบ ปากผาย ภาคอีสานสานไม้ไผ่เป็นหวดทรงกระบอก ปากผาย เรียก มวย และภาคใต้ เรียก สวด ใช้เรียกทุเรียนกลุ่มพันธุ์ก้านยาวพันธุ์ที่รูปทรงผลสวย ตรงกลางป่อง หัวท้ายเรียวว่า ก้านยาวทรงหวด หัวกำไล ระยะของดอกตูมที่มีอายุราว 40-55 วัน จนกระทั่งดอกบาน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 1.5-2.5 ซม. เรียกตามขนาดและรูปร่างของส่วนหัวของกำไลข้อมือหรือข้อเท้า
82.หัวร่อง
พื้นที่ปลายร่องสวนด้านที่ใกล้ทางเข้าสวน มักปลูกทุเรียนพันธุ์เบาที่ติดผลมาก เพื่อล่อกระรอก ไม่ให้กระรอกเข้าไปกินทุเรียนราคาแพงต้นอื่นในร่องได้
83.หางไก่
ยอดทุเรียนที่ชะลูดสูง จนงอกลับลงมา ทำให้กิ่งที่แตกอยู่ข้างๆเป็นยอดแทน เหมือนหางไก่ ทำให้ทุเรียนไม่เจริญเติบโต
84.หางใบ
ส่วนแหลมของปลายใบ บางพันธุ์ส่วนแหลมของใบยาวมาก
85.หางแย้
ใช้เรียก ดอกที่ร่วงเหลือแต่เกสรเพศเมียของดอกทุเรียน ซึ่งติดอยู่บนกิ่งหรือหมายถึงดอกในระยะที่โรยแล้ว
86.เหยียดตีนหนู
ระยะที่ตาดอกเจริญจากระยะไข่ปลามาได้ราว 7-10 วัน มีลักษณะเป็นตุ่มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 0.7-1 ซม. เปรียบได้กับขนาดตีนหนุ และใช้เวลาอีกราว 10 วันจะเข้าสู่ระยะ ลูกกระดุม
– Admin –